ดินลูกรัง เป็นดินที่มีศักยภาพในการเกษตรต่ำมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดินเป็นกรด เป็นเนื้อดินหยาบ ปริมาณเนื้อดินค่อนข้างน้อย การใช้ประโยชน์ที่ดินจำเป็นต้องมีการจัดการที่เหมาะสม
ดินที่มีกรวดปนมักเป็นดินที่ขาดความชุ่มชื้นได้ง่ายและมีข้อจำกัดในการเลือกชนิดของพืชปลูก จำเป็นต้องจัดการเป็นพิเศษ การปลูกพืชติดต่อกันในดินนี้จะทำให้ปริมาณธาตุอาหารในดินลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหน้าดินมักเกิดการกร่อนได้ง่าย ปัจจุบันดินนี้ยังใช้ประโยชน์ในด้านการเพาะปลูกไม่มากนัก
การจัดการดินลูกรัง
การวางแผนการใช้ที่ดินลูกรัง
สามารถปลูกพืชโตเร็ว หรือไม้ใช้สอยอย่างไม้ต้นกระดาษได้ เมื่อไม้โตสามารถตัดขายเป็นไม้เข็ม หรือ ไม้เหมาแปลง ได้ ส่วนอื่นที่เหลือจากการตัดขาย เช่น ปลายไม้ ยังขายเป็น ไม้เชื้อเพลิง เพิ่มรายได้อีกทาง โดยแบ่งพื้นที่สูงเป็นไม้โตเร็วรักษาความชุ่มชื้น พื้นที่ตอนกลางเป็นพืชอายุสั้นทนแล้ง และพื้นที่ส่วนหนึ่งขุดบ่อเก็บน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ในช่วงฝนทิ้งช่วง

การปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน
โดยการปลูกพืชเป็นแถว หรือการไถพรวนขวางความลาดชัน มีการปลูกพืชคลุมดิน ปลูกพืชปุ๋ยสด เป็นแบบ วนเกษตร ร่วมด้วย เพื่อปรับปรุงบำรุงดินส่วนการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก มีความจำเป็นอย่างมากในพื้นที่นี้ซึ่งจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบรูณ์ของดิน และสมบัติทางกายภาพของดิน เพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของดินให้ดีขึ้น
การจัดการเรื่องน้ำ
ต้องมีการจัดการน้ำในพื้นที่ โดยการป้องกันการระเหยของน้ำ เช่น การใช้วัสดุคลุมดิน การปลูกพืชคลุมดินเพื่อเก็บน้ำฝนลงในดิน ให้ดินเป็นพื้นที่เก็บน้ำ ทำคันดินชะลอการไหลของน้ำ ทำคันคูรับน้ำ เพื่อรวบรวมน้ำลงในบ่อ รวมทั้งแนวกันไฟในช่วงฤดูแล้ง
การปรับปรุงบำรุงดินลูกรัง เพื่อปลูกพืช เพิ่มผลผลิต
ควรมีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก รองก้นหลุมเพื่อให้ดินมีความสามารถในการดูดซับธาตุอาหาร อุ้มน้ำได้มากขึ้น เร่งการเจริญเติบโตของพืชในระยะแรก ทำให้พืชแข็งแรง มีรากหยั่งลึก หาอาหารได้มากขึ้น
เทคนิคการปลูกไม้โตเร็วอย่างต้นกระดาษในดินลูกรัง คือ ต้องขุดหลุมให้กว้างกว่าปกติแล้วรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก จากนั้นให้คลุมโคนต้นด้วยเศษหญ้า เพื่อรักษาความชื้น